วิวัฒนาการ NBA จากลีกบาสเกตบอลไม่มีคนดู สู่ธุรกิจ 2 ล้านล้าน

วิวัฒนาการ NBA จากลีกบาสเกตบอลไม่มีคนดู สู่ธุรกิจ 2 ล้านล้าน

 

วิวัฒนาการ NBA จากลีกบาสเกตบอลไม่มีคนดู สู่ธุรกิจ 2 ล้านล้าน

วิวัฒนาการ NBA จากลีกบาสเกตบอลไม่มีคนดู สู่ธุรกิจ 2 ล้านล้าน /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงลีกการแข่งขันบาสเกตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
คงหนีไม่พ้น “NBA” ลีกบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา
ที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 72 ปี
รู้หรือไม่ว่าฤดูกาลแข่งขันปี 2019/2020 NBA มีรายได้ 2.4 แสนล้านบาท
เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับเมื่อ 9 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ Forbes ยังได้ประเมินว่าทีมบาสเกตบอล
ที่อยู่ในการแข่งขัน NBA ทั้ง 30 ทีม มีมูลค่าตลาดรวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท
แล้ว NBA มีกลยุทธ์อย่างไร
และปัจจัยใดที่ทำให้ความนิยมของ NBA
เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ?

NBA ย่อมาจาก National Basketball Association ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยเป็นการรวมตัวกัน ระหว่างลีกบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา 2 ลีก คือ Basketball Association of America (BAA) ก่อตั้งในปี 1946 และ National Basketball League (NBL) ก่อตั้งในปี 1937 แม้ในปัจจุบัน NBA จะมีทีมบาสเกตบอลถึง 30 ทีม แต่ในช่วงเริ่มแรกนั้น NBA มีทีมบาสเกตบอลทั้งหมดเพียง 17 ทีม แถมในช่วงเริ่มต้น NBA ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะในปี 1955 มีทีมบาสเกตบอลแข่งขันกันเพียง 8 ทีมเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้ NBA กลับมาเป็นที่นิยม และกลับมาเติบโตได้ มาจากการปรับโครงสร้างการแข่งขันขึ้นใหม่ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มเขตทำคะแนน 3 แต้ม จากเดิมที่มีการทำคะแนนได้เพียง 2 แต้มต่อการชูตลง 1 ลูกเท่านั้น ซึ่งลูก 3 แต้มนี้ทำให้เกิดความหลากหลายและรูปแบบการเล่นใหม่เข้ามาในเกม หรืออีกกฎที่เพิ่มเข้ามาคือ การเพิ่มระบบ “Shot Clock”
ที่กำหนดเวลาในการครอบครองบอลของแต่ละฝั่ง ทำให้แต่ละทีมต้องรีบทำคะแนนภายในเวลาที่กำหนด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้เกมการแข่งขันมีความรวดเร็ว มีรูปแบบที่กระตุ้นให้นักกีฬาต้องแข่งกันทำแต้มตลอดเวลา ส่งผลให้เกมดูสนุกและตื่นเต้นมากขึ้น และผู้ชมก็เริ่มให้ความสนใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ อีกหนึ่งในโครงสร้างของ NBA ที่แตกต่างจากลีกกีฬาอื่น คือรูปแบบโมเดลธุรกิจของ NBA ที่สร้างความมั่นคงให้กับทุกทีมที่มีส่วนร่วม และลดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างกัน เช่น การเลือกตัวนักกีฬาหน้าใหม่เข้าทีมหรือการดราฟต์ ด้วยระบบที่เน้นให้โอกาสกับทีมที่ทำผลงานได้ไม่ดี มีโอกาสในการคว้าตัวนักกีฬาอันดับต้น ๆ ในระบบดราฟต์ มากกว่าทีมที่มีผลงานดี โดยปัจจุบัน 3 ทีมที่มีผลงานแย่สุด จะมีโอกาสเท่ากันที่ 14% ที่จะคว้าสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ซึ่งสิทธิ์ดราฟต์ที่แต่ละทีมได้มา สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาแลกเปลี่ยน ตัวนักกีฬาระหว่างทีมได้อีกด้วย นอกจากการรักษาสมดุลระหว่างผู้เล่นในแต่ละทีม NBA ก็ยังได้กำหนดเพดานค่าจ้างนักกีฬาของแต่ละทีม โดยมีระบบการคำนวณมาจากรายได้รวมของลีก ทำให้แต่ละทีมมีเพดานสำหรับการจ่ายค่าจ้างเท่ากัน และหากทีมใดจ้างนักกีฬาเกินเพดานที่กำหนด จะต้องเสียภาษีเพดานค่าจ้างในอัตราที่สูงมาก ระบบนี้จึงกลายมาเป็นการป้องกันการซื้อตัวนักกีฬาดังไม่ให้ไปอยู่รวมกันภายในทีมเดียวมากเกินไป อีกระบบที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบการคำนวณรายได้มวลรวมของลีก เป็นระบบที่ช่วยการกระจายรายได้ของแต่ละทีม โดยทุกทีมจะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมารวมกันและเฉลี่ยไปยังทีมอื่นเท่า ๆ กัน เพื่อเป็นการปรับช่องว่างรายได้ ระหว่างทีมที่อยู่ในตลาดขนาดเล็กและใหญ่ เช่น LA Lakers ที่อยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีประชากรเกือบ 4.0 ล้านคน กับทีม Phoenix Suns ที่อยู่ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ซึ่งมีประชากรเพียง 1.6 ล้านคน จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ทีม อยู่ในเมืองที่มีฐานประชากรห่างกันมาก และส่งผลต่อรายได้ของทีม แต่ระบบของ NBA จะทำให้ทีมที่มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ ได้รับเงินอุดหนุนจำนวนหนึ่ง จากทีมที่มีรายได้มากกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ทีมขนาดเล็กก็ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 70% ของรายได้เฉลี่ยที่แบ่งกันในแต่ละทีม จึงจะสามารถรับส่วนแบ่งได้เต็มอัตรา เพื่อเป็นการจูงใจและผลักดันให้ทีมขนาดเล็กปรับปรุงและพัฒนาทีมอยู่ตลอดเวลา เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างถูกสร้างสรรค์และออกแบบมาอย่างดีแล้ว ก็ส่งผลให้ความนิยมและรายได้ของ NBA เพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทีนี้เรามาดูกันว่าการหารายได้ของ NBA เป็นอย่างไร ?
NBA เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของความหลากหลายของช่องทางการหารายได้ ซึ่งก็คือการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้เพียงไม่กี่ช่องทาง
โดยรายได้หลักของ NBA มาจาก 4 ช่องทางด้วยกันคือ
1. ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

รายได้ส่วนนี้ ถือเป็นรายได้หลักของ NBA ซึ่งในปี 2016 NBA ได้มีการเซ็นสัญญากับสื่อกีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง ESPN และ Turner Sports ด้วยสัญญา 9 ปี มูลค่าราว 720,000 ล้านบาท
หรือเฉลี่ยปีละ 80,000 ล้านบาท สำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันของ NBA

โดยสัญญานี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 180% จากสัญญาเดิมที่ได้ 29,000 ล้านบาทต่อปี
และแต่ละทีมสามารถเซ็นสัญญาถ่ายทอดสดกับสื่อท้องถิ่นได้อีกด้วย
นอกจากนี้ NBA ยังมีระบบสตรีมมิง ชื่อว่า NBA League Pass ที่ให้ผู้ชมสามารถเลือกซื้อได้ทั้งแบบ รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ทำให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถรับชมการแข่งขันได้แบบถูกลิขสิทธิ์
2. ลิขสิทธิ์ทางด้านสินค้าและการสนับสนุนจากสปอนเซอร์
ถึงแม้จะไม่ใช่รายได้ที่มีสัดส่วนที่มาก แต่ก็มีสินค้าหลากหลายแบรนด์ที่พร้อมจะร่วมสนับสนุนกับ NBA
อย่างเช่น การซื้อป้ายโฆษณาบนเสื้อนักกีฬา ซึ่งป้ายดังกล่าวมีขนาดประมาณบัตรประชาชนเท่านั้น แต่กลับมีมูลค่าที่สูงมาก
ในปี 2019 ป้ายแบรนด์เหล่านี้ทำรายได้ให้กับ NBA กว่า 4,500 ล้านบาท
อย่างเช่น Rakuten แบรนด์ E-commerce จากญี่ปุ่น ที่ยอมจ่ายถึง 600 ล้านบาทต่อปี
ให้กับทีม Golden State Warriors เพื่อซื้อโฆษณาบนเสื้อดังกล่าว
หรือจะเป็นสัญญากับ Nike แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอันดับหนึ่งของโลก
ที่ยอมจ่าย 30,000 ล้านบาทให้กับ NBA เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการผลิตและจัดจำหน่ายชุดบาสเกตบอลของ NBA ทั้ง 30 ทีมเป็นระยะเวลา 8 ปี ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัญญาเดิมที่เคยทำร่วมกับ Adidas
และ Nike จะต้องจ่ายค่าเครื่องแต่งกายของนักกีฬาใน NBA เป็นมูลค่ากว่า 3,750 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่ามากกว่าที่ Adidas เคยจ่ายให้ถึงเท่าตัว เช่นกัน
3. รายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมในสนาม
น่าแปลกใจที่รายได้ส่วนนี้กลับไม่ใช่รายได้หลักของแต่ละทีม เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ชมสามารถรับชมผ่าน ระบบออนไลน์ได้ทุกที่ แต่มีรายงานว่าในฤดูกาล 2019/2020 ค่าใช้จ่ายในการเข้าชมการแข่งขัน 1 เกมสำหรับครอบครัว 4 คน ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายหลัก ๆ เช่น ค่าตั๋ว ค่าที่จอดรถ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตกเฉลี่ยเกมละ 13,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5% จากฤดูกาลก่อนหน้า
4. รายได้จากต่างประเทศ
NBA ได้มีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศมาหลายปีแล้ว และได้กลายมาเป็นรายได้สำคัญของลีก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีการประเมินว่า NBA มีรายได้จากประเทศจีนปีละกว่า 15,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้รวมถึงดีลระหว่าง NBA กับ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนด้วยสัญญา 5 ปี 45,000 ล้านบาท
ในการเป็นพาร์ตเนอร์ที่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันจาก NBA เพียงรายเดียวในจีน
และกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้ NBA สามารถขยายไปยังต่างประเทศได้
ก็คือการเปิดรับนักกีฬาต่างชาติเข้ามาในลีกมากขึ้น โดยในฤดูกาล 2019/2020 มีจำนวนนักกีฬาที่ไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกันกว่า 108 คน จาก 38 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของฤดูกาล 1994/1995
กลยุทธ์นี้ได้ช่วยเพิ่มฐานคนดูของ NBA ในต่างแดน เพราะสำหรับบางประเทศที่กีฬาบาสเกตบอลยังไม่เป็นที่นิยม และไม่มีทีมที่คุ้นเคยไว้ตามเชียร์ คนดูก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการเชียร์นักกีฬาของประเทศตัวเอง
ถึงตรงนี้ก็คงบอกได้ว่า NBA คือองค์กรที่มีโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย
เป็นตัวอย่างขององค์กรที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
และกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันเองภายในลีกอยู่ตลอดเวลา
นำมาซึ่งผลงานที่น่าประทับใจแก่คนดูและเจ้าของทีมเอง
ก็เป็นที่น่าติดตาม ว่าถ้าหาก NBA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
จะมีมูลค่าเท่าไร และในอนาคตจะมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราได้ศึกษา
แต่ดูเหมือนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นอกจากจะทำให้ผู้ชื่นชอบบาสเกตบอลสนุกขึ้นแล้ว
มันก็ยังได้กลายมาเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่ง จน NBA สามารถเติบโต
จากวันที่เหลือเพียง 8 ทีมในปี 1955 จนกลายมาเป็นธุรกิจ
ที่มีมูลค่าตลาด 2 ล้านล้านบาทไปแล้ว นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
Joseph Tsai ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานบริหารของ Alibaba Group
ได้เข้าซื้อทีม Brooklyn Nets ในปี 2019 ด้วยจำนวนเงิน 70,500 ล้านบาท
ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การซื้อทีมกีฬาของสหรัฐอเมริกา..
References:
https://www.investopedia.com/articles/investing/070715/nbas-business-model.asp
https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/071415/how-nba-makes-money.asp#citation-9
https://www.forbes.com/sites/kurtbadenhausen/2021/02/10/nba-team-values-2021-knicks-keep-top-spot-at-5-billion-warriors-bump-lakers-for-second-place/?sh=2ea4a89645b7
https://www.statista.com/statistics/193467/total-league-revenue-of-the-nba-since-2005/
https://www.nba.com/news/nba-rosters-feature-108-international-players-2019-20
https://bleacherreport.com/articles/1039092-nba-revenue-sharing-small-market-teams-to-benefit-from-new-sharing-structure
https://nba.nbcsports.com/2015/06/10/nike-to-replace-adidas-as-official-maker-of-nba-uniforms-apparel/related/
https://www.netsdaily.com/2019/8/15/20806783/with-joe-tsai-purchase-confirmed-nets-incredible-summer-continues
https://www.history.com/this-day-in-history/nba-is-born

 

 

• เรื่องน่าสนใจ •